เป็นล่ามที่ดีได้อย่างไร
คราวนี้มาพูดเรื่องของล่ามกันดีกว่า วันก่อนไปอ่านเจอในพจนานุกรมของเมอร์เรียม เวบสเตอร์ ท่านกล่าวถึง คำจำกัดความของล่ามไว้น่าสนใจ ด้วยความระลึกถึงพี่น้อง นายล่ามโซ่ก็เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ครับ
พจนานุกรมของเมอร์เรียม เวบสเตอร์ ฉบับที่สิบกล่าวว่า ล่าม “คือบุคคลใดก็ตามที่สามารถแปลความปากเปล่าในภาษาที่แตกต่างกันให้แก่คู่สนทนา” สำหรับการทำงานในที่ประชุม ล่ามจำต้องรู้วิธีการแปลแบบฉับพลัน มีความรอบรู้ภาษาพูดในท้องถิ่นที่ใช้ในการประชุม และต้องรู้ในประเด็นของการประชุมนั้นเป็นอย่างดีด้วย ยิ่งกว่านั้น ล่ามยังต้องเข้าใจถึงความแตกต่างด้านวัฒนธรรม รวมทั้งต้องผสมผสานสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ผู้ฟังได้รับความเข้าใจที่สมบูรณ์แบบ
ปัจจัยต่างๆ ที่ควรคำนึงถึงสำหรับล่ามในการประชุม
- ความหลากหลาย ล่ามควรปรับตัวเองให้เหมาะสมกับเวทีการประชุมของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการประชุมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม
- ความสมบูรณ์แบบ ล่ามต้องมีทักษะทางด้านภาษาและไวยากรณ์ เพื่อให้การแปลเป็นไปอย่างราบรื่นในทุกๆวาระการประชุม
- เข้าใจสาระอย่างถ่องแท้ ล่ามต้องรู้ประเด็นที่จะมีการสนทนาในการประชุมนั้นเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่อง คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การผลิต หรือเรื่องของธุรกิจ ประเด็นทางภาคราชการหรือการศึกษา เป็นต้น โดยล่ามจำต้องเป็นผู้ชำนาญการในสาขาวิชานั้นๆ
- ปกปิดความลับ หากลูกค้าที่จัดการประชุมต้องการให้เก็บรักษาความลับไว้ ล่ามจำต้องใช้ดุลยพินิจถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากเป็นข้อกำหนด ก็ต้องพร้อมที่จะเซ็นสัญญาข้อตกลงการไม่เปิดเผยความลับ
- มาดนักธุรกิจ ล่ามควรพูดจาฉาดฉาน มีการแต่งกายและกิริยามารยาทในแบบสุภาพชน และล่ามควรต้องทำตัวให้มีความเป็นมืออาชีพเช่นเดียวกับผู้บริหารอาวุโส
- ผ่านการรับรอง ล่ามจะต้องผ่านการรับรองสำหรับการทำงานในศาล ในระดับที่มีการพิจารณาให้สามารถทำงานล่ามในศาลได้
นาย ล่ามโซ่
Source : Merriam Webster’s Collegiate Dictionary, Tenth Edition
|